หมวดที่ 1 แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ความเป็นมา
          มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หรือชื่อเดิมเรียกว่า "สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ" เป็นหนึ่งในห้าสถาบันราชภัฏที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 และประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของประชาชน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางด้านวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู
          การจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวได้ว่าเป็นการจัดตั้งในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในเกณฑ์ของการเลือกจังหวัดที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏใหม่ครบทุกเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ
          1. เป็นจังหวัดที่มีประชากรมาก มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ตั้งขึ้นใหม่ ควรให้บริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ครอบคลุมประชาชนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 1 ล้านคน ในขณะที่เฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษเองมีประชากรประมาณ 1,440,000 คน
          2. เป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษามาก โดยเฉพาะจำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแต่ละปีของพื้นที่บริการต้องไม่ต่ำกว่า 2,500 คน ในขณะที่จังหวัดศรีสะเกษ มีนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่าง
ต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียนมากกว่า 10,000 คน
          3. เป็นจังหวัดที่ขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา เช่น ไม่เป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดหน่วยงานอื่นหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ ไม่สามารถให้บริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้
เพียงพอ โดยในขณะที่จังหวัดศรีสะเกษ ไม่มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดทำการสอนถึงระดับปริญญาตรีเลย
          4. เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องพึ่งแรงงานที่มีทักษะและการฝึกอบรมมาอย่างดีในด้านนี้ จังหวัดศรีสะเกษใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ปราสาทหินเขาพระวิหารและใกล้แหล่งศูนย์กลางติดต่ออินโดจีน คือ อุบลราชธานี
          5. เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านที่ดินเพื่อการก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในจังหวัดเป็นอย่างดี โดยที่ดินที่ใช้เพื่อการก่อสร้างควรมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่

ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในการจัดตั้ง

24 มิถุนายน 2537
          นายบุญชง วีสมหมาย สมาชิกผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จังหวัดศรีสะเกษ เรื่อง ขอจัดตั้งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ โนนบักบ้า ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

12 กรกฎาคม 2537
          นายบุญชง วีสมหมาย มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการขอจัดตั้งสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา (สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ)

25 พฤศจิกายน 2539
          กระทรวงศึกษาธิการ ออกหนังสือ ที่ ศธ 0335/18506 ถึงสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มเติม

29 เมษายน 2540
          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

25 พฤษภาคม 2542
          ประกาศรับสมัครนักศึกษา ภาคปกติ รุ่นที่ 1 ภายใต้การกำกับของสถาบันราชภัฏสุรินทร์

21 มิถุนายน 2542
          เปิดทำการเรียนการสอนนักศึกษา ภาคปกติ รุ่นที่ 1

12 มิถุนายน 2544
          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

12 กรกฎาคม 2544
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มขึ้นในสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ

20 กรกฎาคม 2544
          ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ 59 ก จัดตั้งสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

21 กรกฎาคม 2544
          แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

1 พฤศจิกายน 2544
          โอนนักศึกษาภายใต้การกำกับของสถาบันราชภัฏสุรินทร์ มาสังกัดสถาบันราชภัฏ ศรีสะเกษทั้งหมด

22 มกราคม 2545
          ประกาศการแบ่งส่วนราชการในสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ (นายสุวิทย์ คุณกิตติ)

20 พฤษภาคม 2545
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

21 พฤศจิกายน 2545
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายบุญชง วีสมหมาย ดำรงตำแหน่ง นายกสภาประจำสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ

12 กรกฎาคม 2547
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศ ให้สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ" และเป็นนิติบุคคลกฎหมาย

24 มกราคม 2548
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

31 มกราคม 2556
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

1 ตุลาคม 2556
          สภามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เห็นชอบให้จัดตั้งส่วนงานภายในระดับ คณะหรือเทียบเท่าคณะ คือ 1) คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2) คณะครุศาสตร์ 3) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 4) คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี 5) วิทยาลัยกฎหมาย และการปกครอง 6) สำนักงานอธิการบดี และ 7) สำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ

ปรัชญาของมหาวิทยาลัย

          "ความรู้คู่คุณธรรม นำชุมชนให้เข้มแข็ง แหล่งภูมิปัญญาไทย"

วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย

          "มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นแหล่งความรู้และที่พึ่งของท้องถิ่นและภูมิภาค เสริมสร้างคุณภาพคน ครอบครัว ชุมชน สังคมไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"

พันธกิจของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้กำหนดพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ดังนี้
          1. แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
          2. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและผูกพันต่อ ท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตดังกล่าวจะต้องให้มีจำนวน และคุณภาพสอดคล้องกับแผนการผลิตบัณฑิตของประเทศ
          3. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่าความสำนึก และความภูมิใจในวัฒนธรรมของ ท้องถิ่นและของชาติ
          4. เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนาและนักการเมือง ท้องถิ่นให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม และความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชน และท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม
          5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่เหมาะสมกับการวิชาชีพชั้นสูง
          6. ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
          7. ศึกษาและแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น
          8. การแสวงหาแนวทาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูป ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษว่า "พระพุทธราชภัฏมุนีศรีสะเกษ" หมายถึง พระพุทธรูปของนักปราชญ์
วันที่ 4 มีนาคม 2549 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจัดสร้างพระพุทธรูป และศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และใช้ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ นับเป็น
พระมหากรุณาธิคุณ และความเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษสืบไป

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย ดอกลำดวน

          ลำดวนเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-10 เมตร ผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ผิดต้นเรียบ มีรอยแตกเล็กน้อย แตกกิ่งด้านสาขาตามข้อต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันตามข้อ ลำต้นและกิ่งลักษณะใบเป็นรูปหอกยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบมนแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเรียบมัน สีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามส่วนยอดและตามง่ามใบมีกลีบดอก 6 กลีบซ้อนกันเป็นชั้น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกกว้าง ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง กลิ่นหอม ผลกลมเล็ก ปลายผลมน โคนผลแหลม ผิวเรียบเกลี้ยงมีเขียว มีผลอยู่รวมกันประมาณ 1-2 ผล ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ขนาดผลโดยประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นลำดวนไว้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความคิดถึง ความสดชื่น เพราะลำดวนคือความกลมกลืน ความดูดดื่ม ความชื่นฉ่ำ

เอกลักษณ์สถาบัน
           มหาวิทยาลัยสีเขียว หมายถึง มหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศที่ร่มรื่นน่าอยู่ สะอาด รวมทั้งการประหยัดพลังงาน มีระบบนิเวศที่เกื้อกูลกัน เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอน

อัตลักษณ์สถาบัน
          บัณฑิตจิตสาธารณะ หมายถึง บัณฑิตที่รู้จักแบ่งปัน เอาใจใส่และห่วงใยในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์
          1) มีคุณธรรมจริยธรรมต่อสังคม (Social Ethics) มีความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ขยันอดทนสู้งาน ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และศีลธรรมอันดี
          2) มีทักษะในการประกอบสัมมาชีพ (Self - Sufficiency) มีทักษะในการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ นำความรู้สู่การ
ปฏิบัติได้
          3) มีความรู้ (Knowledge) มีความรู้ในศาสตร์ที่ศึกษา และศาสตร์ต่างๆ ที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถประยุกต์ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้
          4) มีความรับผิดชอบ (Responsibility) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์กร สังคม สิ่งแวดล้อม รู้จักแบ่งปัน ห่วงใย ใส่ใจ รักและเห็นคุณค่าในความเป็นไทย ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม
          5) มีความสามัคคี (Unity) มีความเป็นประชาธิปไตย รักและภูมิใจในสถาบัน มีความเมตตา กรุณา คิดดี พูดดี ทำดี เป็นกัลยาณมิตร รู้จักเสียสละ ให้อภัย สุภาพ สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุข

ลำดับ
อธิการบดี
ชื่อ - สกุล
ปี พ.ศ.
หมายเหตุ
1
ผศ.กนก โตสุรัตน์ 2541-2544 - รองอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุรินทร์
- หัวหน้าโครงการจัดตั้ง
สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ
2
ผศ.กนก โตสุรัตน์ 2544-2547 อธิการบดีสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ
3
ผศ.กนก โตสุรัตน์ 2547-2550 อธิการบดีมหาวิทยาลัย ราชภัฏศรีสะเกษ
4
ผศ.กนก โตสุรัตน์ 2550-2553 อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ราชภัฏศรีสะเกษ
5
ผศ.กนก โตสุรัตน์ 2553-2556 อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ราชภัฏศรีสะเกษ
6
ผศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร 2556-ปัจจุบัน อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ราชภัฏศรีสะเกษ

 

 

กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน สำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ 33000
โทรศัพท์ , โทรสาร 0-4564-3622